จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

ชื่อเรื่อง (The Title)

http://www.watpon.com/Elearning/res19.htm      ได้รวบรวมไว้ว่า การตั้งชื่อเรื่องวิจัย ชื่อเรื่องวิจัยนับเป็นจุดแรกที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน และทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในปัญหารวมทั้งวิธีการดำเนินการวิจัยของผู้วิจัยอีกด้วย ดังนั้นการตั้งชื่อเรื่องวิจัยจึงต้องเขียนให้ชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่เขียนอย่างคลุมเครือ ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงต้องระมัดระวังในการตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้เหมาะสม ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้
1. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้สั้น โดยใช้คำที่เฉพาะเจาะจง หรือสื่อความหมายเฉพาะเรื่อง และควรเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย กะทัดรัด แต่ชื่อเรื่องก็ไม่ควรจะสั้นเกินไปจนทำให้ขาดความหมายทางวิชาการ
2. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้ตรงกับประเด็นของปัญหา เมื่อผู้อ่านอ่านแล้วจะได้ทราบว่าเป็นการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาอะไรได้ทันที อย่างตั้งชื่อเรื่องวิจัยที่ทำให้ผู้อ่านตีความได้หลายทิศทาง และอย่าพยายามทำให้ผู้อ่านเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเกินความเป็นจริง
3. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยโดยการใช้คำที่บ่งบอกให้ทราบถึงประเภทของการวิจัย ซึ่งจะทำให้ชื่อเรื่องชัดเจน และเข้าใจง่ายขึ้น เช่น
3.1 การวิจัยเชิงสำรวจ มักใช้คำว่า การสำรวจ หรือการศึกษาในชื่อเรื่องวิจัยหรืออาจระบุตัว แปรเลยก็ได้ เช่น การศึกษาการใช้สารเคมีของชาวอีสาน หรือการสำรวจการใช้สารเคมีของชาวอีสาน หรือการใช้สารเคมีของชาวอีสาน เป็นต้น
3.2 การวิจัยเชิงศึกษาเปรียบเทียบ การตั้งชื่อเรื่องวิจัยในลักษณะนี้ มักจะใช้คำว่า การศึกษา เปรียบเทียบ หรือการเปรียบเทียบ นำหน้า เช่น การศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านของนักเรียนในเขตและนอกเขตเทศบาล ของจังหวัดมหาสารคาม
3.3 การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ การวิจัยประเภทนี้จะใช้คำว่า การศึกษาความสัมพันธ์ หรือความสัมพันธ์ นำหน้าชื่อเรื่องวิจัย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งกับพ่อแม่และการปรับตัวของวัยรุ่น เป็นต้น
3.4 การวิจัยเชิงการศึกษาพัฒนาการ การวิจัยประเภทนี้มักใช้คำว่า การศึกษาพัฒนาการหรือพัฒนาการ นำหน้าชื่อเรื่องวิจัย เช่น การศึกษาพัฒนาการด้านการเขียนของเด็กก่อนวัยเรียนในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม
3.5 การวิจัยเชิงทดลอง การตั้งชื่อเรื่องวิจัยประเภทนี้อาจตั้งชื่อได้แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของการทดลอง เช่น อาจใช้คำว่า การทดลอง การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การศึกษา การเปรียบเทียบ ฯลฯ นำหน้า หรือาจจะไม่ใช้คำเหล่านี้นำหน้าก็ได้ เช่น การทดลองเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในจังหวัดอ่างทอง การวิเคราะห์หาปริมาณของกรดอะมิโนที่จำเป็นในปลายรากข้าวโพดหลังจากแช่ในสารละลายน้ำตาลชนิดต่าง ๆ การสังเคราะห์กรดไขมันจากอะเซติลโคเอ การศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ ในยางมะละกอ การเปรียบเทียบการสอนอ่านโดยวิธีใช้ไม่ใช้การฟังประกอบ การสกัดสารอินดิเคเตอร์จากดอกอัญชัน ฯลฯ
4. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยในลักษณะของคำนาม ซึ่งจะทำให้เกิดความไพเราะ สละสลวยกว่าการใช้คำกริยานำหน้าชื่อเรื่อง เช่น แทนที่จะใช้คำว่า ศึกษา เปรียบเทียบ สำรวจ ก็ควรใช้คำที่มีลักษณะเป็นคำนามนำหน้า เช่น การศึกษา การเปรียบเทียบ การสำรวจ ฯลฯ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ไม่ดี : ศึกษาวงจรชีวิตของเห็บสุนัข
ดีขึ้น : การศึกษาวงจรชีวิตของเห็บสุนัข
ไม่ดี : เปรียบเทียบความเกรงใจระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิงของโรงเรียนในเขตเทศบาล เลย
ดีขึ้น : การเปรียบเทียบความเกรงใจระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิงของโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองเลย
5. ควรตั้งชื่อเรื่องวิจัยที่ประกอบด้วยข้อความเรียงที่สละสลวยได้ใจความสมบูรณ์ คือเป็นชื่อเรื่องที่ระบุให้ทราบตั้งแต่จุดมุ่งหมายของการวิจัย ตัวแปร และกลุ่มตัวอย่างที่จะศึกษาวิจัยด้วย เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนการสอบคัดเลือกกับเกรดเฉลี่ยสะสมและเจตคติต่อวิชาชีพครูของนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2544อนึ่ง นักวิจัยบางท่านก็นิยมเขียนชื่อเรื่องวิจัยสั้น ๆ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดลงไป เช่น บุคลิกภาพของนักศึกษาครู เป็นต้น

http://www.elearning.ns.mahidol.ac.th/km/index.php/research-knowledge-section/80-research-general-knowledge-category/217-2011-03-07-02-39-19.html     ได้รวบรวมไว้ว่า  การเลือกหัวข้องานวิจัย 
1. หัวข้อวิจัยอาจเกิดจากความสนใจ ประสบการณ์ส่วนตัว ภูมิหลัง และปัญหาในการทำงาน เช่น นางสาวปริศนาปฏิบัติงานในตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา รับผิดชอบในการดำเนินจัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อเสริมประสบการณ์ในการเรียนการสอนแก่นักศึกษา เป็นจำนวน  99โครงการต่อปี ทั้งนี้ จากการประเมินโครงการในแต่ละครั้ง พบว่า ในแต่ละโครงการมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่ำกว่าร้อยละ 50 ดังนั้น นางสาวปริศนาจึงมีความสนใจที่จะทำวิจัย เพื่อจะแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ในการปฏิบัติงานก็ได้ 
2. การอ่านเอกสาร วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตำรา วารสารวิจัยต่างๆ และปริญญานิพนธ์ต่างๆ บทความต่างๆที่เกี่ยวข้อง รายงานการวิจัย เป็นต้น จากการอ่านทบทวนและการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์วรรณกรรมเหล่านี้  จะทำให้เราทราบว่า ทำให้เราทราบถึงช่องว่างหรือโอกาสที่จะต่อยอดทางความคิดได้  หรือเรื่องที่ตนเองสนใจที่จะศึกษาหลังจากการได้อ่านผลงานวิจัยของคนอื่นแล้ว จะได้นำข้อค้นพบจาการทำวิจัยและข้อเสนอแนะที่ผู้วิจัยให้ไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการต่อยอดความคิด หรือเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่จะทำวิจัยได้  หรือจากการอ่านบทคัดย่อปริญญานิพนธ์/บทคัดย่อ เมื่ออ่านแล้วก็จะเกิดแนวความคิดในการเลือกหัวข้อปัญหาการวิจัยได้ และทราบว่ามีใครทำงานวิจัยอะไรบ้างและลดการทำงานวิจัยซ้ำซ้อนกับผู้อื่นด้วย จากแหล่งอื่นๆ เช่น การวิเคราะห์แนวโน้มของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคม ตามสภาพเวลาและเทคนิควิทยาการต่างๆ หรือจากข้อโต้แย้ง หรือการวิพากษ์วิจัยของบุคคลที่อยู่ในวงการนั้น ซึ่งบางครั้งจากการประชุม สัมมนาหรือการอภิปรายต่างๆ ในเรื่องที่ตรงกับที่ผู้วิจัยสนใจ หรือจากการศึกษาปัญหาจากสถาบันหรือหน่วยงานต่างๆ ที่มีการทำวิจัย หรือบุคคลที่กำลังทำวิจัยอยู่  เป็นต้น 3) แหล่งทุนอุดหนุนการวิจัย  นับเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่สามารถกำหนดที่มาของหัวข้องานวิจัยได้ โดยแหล่งทุนจะกำหนดหัวข้อกว้างๆให้ทราบว่า ขณะนี้แหล่งทุนนั้นๆกำลังสนใจที่จะสนับสนุนการวิจัยอะไรบ้าง และอาจให้หัวข้อตัวอย่างที่น่าสนใจไว้ ผู้ที่สนใจจะรับทุนอาจดัดแปลงหัวข้อที่แหล่งทุนระบุไว้ให้เข้ากับสภาพของสังคมไทย
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/116502 นาย ทองสง่า ผ่องแผ้วได้รวบรวมไว้ว่า  การตั้งชื่อเรื่องถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการทำวิทยานิพนธ์  ถ้าชื่อที่ตั้งมีความถูกต้องตามหลักวิชาการ  มีความน่าสนใจ  ไม่ซ้ำกับคนอื่น  ถือเป็นการทำวิทยานิพนธ์สำเร็จไปแล้ว  20 % โดยทั่วไปการตั้งหัวเรื่องวิทยานิพนธ์ให้ชัดเจน  ทำได้  ต้องคำนึงสาขาที่ศึกษา  ลักษณะของประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  ลักษณะการเก็บรวบรวม ข้อมูลและการกำหนดประเด็นสำคัญของการวิจัย  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
  1.  สาขาวิชาที่ศึกษา  การตั้งชื่อหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ควรมีความเกี่ยวกับสาขาที่ตนศึกษา ตัวอย่าง  ถ้านิสิต นักศึกษาเรียนสาขาเทคโนโลยีการศึกษา ชื่อเรื่องควรมีความเกี่ยวข้อง เช่น  แนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Learning)สำหรับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย (สังคม  ภูมิพันธุ์และคณะ,2549) ถ้าเป็นทางบัญชีและการจัดการ  เช่น  ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการร้านค้าสะดวกซื้อในเขตจังหวัดมหาสารคาม  ซึ่งนิสิต นักศึกษาพิจารณาชื่อเรื่องที่ตั้งแล้วจะพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับสาขาที่ตนศึกษา กรณีชื่อแรก  ทฤษฏีที่นำมาประกอบ คือ  การจัดการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Learning)การผลิตสื่อการเรียนการสอนบนเครือข่าย  การประเมินสื่อ  ซึ่งล้วนเป็นเนื้อหาทางเทคโนโลยีการศึกษาทั้งสิ้น  เรื่องที่สอง ทฤษฏีที่นำมาประกอบ คือ   ทฤษฏีการสร้างแรงจูงใจในการซื้อ  ทฤษฏีความพึงพอใจ  และการบริการการขาย เป็นทฤษฎีในสาขาที่เกี่ยวข้อง  อีกประการหนึ่ง จากชื่อเรื่องทั้งสอง  พบว่า การตั้งชื่อเรื่องก็คือการตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบโดยใช้กระบวนการวิจัยนั้นเอง  และถ้าดูส่วนประกอบของชื่อเรื่อง โดยส่วนมากแล้วจะบ่งชี้ถึงสาขาที่เรียนอย่างชัดเจน
2.  ลักษณะของการเก็บรวบรวมข้อมูล   การตั้งชื่อวิทยานิพนธ์สามารถใช้ลักษณะการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ โดยเฉพาะการวิจัยเชิงทดลองหรือกึ่งทดลอง ถ้านิสิต นักศึกษาอ่านงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์หลายเรื่อง จะพบว่า ชื่อเรื่องจะบ่งชี้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนวิชาเคมีชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4  เรื่อง พันธะเคมี  ระหว่างนักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์กับการสอนแบบปกติ  จากชื่อเรื่องแสดงว่า จะมีการเก็บรวบรวมข้อมูล  2 ครั้ง คือก่อนเรียนและหลังเรียนของแต่ละวิธี แล้วนำมาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แสดงให้เห็นว่าลักษณะของการเก็บรวบรวมข้อมูลจะเป็นส่วนหนึ่งของชื่อเรื่อง ที่นิสิต  นักศึกษาตั้งขึ้นนั่นเอง  หรือจะเป็นเรื่องความพึงพอใจของผู้ใช้การบริการโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง  ลักษณะการเก็บรวบรวมข้อมูลคือจะเก็บข้อมูลจากผู้ใช้บริการ โดยแบบสอบถามหรือแบบสัมภาษณ์ 
 3.  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  การตั้งชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์  นิสิต  นักศึกษาสามารถใช้กลุ่มประชากรหรือกลุ่มตัวอย่างมาเป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ได้ ตัวอย่างเช่น  เจตคติต่อวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  โรงเรียนคำชะอีวิทยาคาร  อำเภอคำชะอี  จังหวัดมุกดาหาร  หรือพฤติกรรมการเลือกชมภาพยนตร์ของประชาชนในเขตอำเภอเมือง  จังหวัดมหาสารคามและพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของชนเผ่าภูไท อำเภอหนองสูง  จังหวัดมุกดาหาร  จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มีกำหนดกลุ่มประชากรหรือกลุ่มตัวอย่างอย่างชัดเจนว่า เป็นใคร  ที่ไหน  อย่างไหร่  นอกจากนี้ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์จากงานวิจัยและวิทยานิพนธ์โดยทั่วไปแล้ว  จะระบุกลุ่มประชากรอย่างชัดเจน  ดังนั้นการตั้งชื่อเรื่อง  นิสิต  นักศึกษาควรระบุกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน  ว่าจะศึกษากับใคร(WHO)  ที่ไหน(WHERE) เพื่อเป็นกรอบในการทำวิทยานิพนธ์
                4.  ประเด็นสาระสำคัญของวิทยานิพนธ์  การตั้งชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์  นิสิต  นักศึกษาสามารถนำเอาประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญของงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ที่พบจากบทความในวารสารหรือเอกสารมาวิเคราะห์และจำแนกเป็นหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ได้  ตัวอย่างเช่น  นิสิต  นักศึกษาจะศึกษาเรื่องความรู้ทางวิทยาศาสตร์  นิสิต  นักศึกษาก็อาจจะนำหัวข้อมาแยกหรือแตกประเด็นหรือตั้งเป็นหัวข้อเรื่องได้เช่นเดียวกัน   อาจจะเป็นหัวข้อเรื่อง   ความรู้ เจตคติเชิงวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในจังหวัดมหาสารคาม  เป็นต้น  ซึ่งจะทำให้ขอบเขตหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์มีความชัดเจนมากขึ้น
 5.  การกำหนดหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ที่เคยทำมาแล้ว  สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญมากคือ ชื่อเรื่องที่ตั้งขึ้นจะต้องไม่ซ้ำกับงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ที่ผู้อื่นเคยศึกษามาแล้ว  ซึ่งในทางปฏิบัติการศึกษางานวิจัยในเรื่องเดียวกันสามารถกระทำได้ แต่การตั้งชื่อเรื่องซ้ำกันนั้นไม่นิยมทำกันอย่างที่สุดก็คือทำในเวลาต่างกัน  กลุ่มเป้าหมายต่างกัน  แต่กรณีที่นิสิต  นักศึกษาจะทำการศึกษาค้นคว้าควรเพิ่มเติมปีที่ดำเนินการวิจัยหรือตั้งชื่อเพิ่มเติมหน้าหรือต่อท้ายชื่อเรื่อง  ว่าเป็นการศึกษาอะไรเพิ่มเติม  เป็นปีที่เท่าใด
การตั้งชื่อเรื่องนิสิต นักศึกษาอาจจะตั้งตามสาขาที่ศึกษา  ตามลักษณะการเก็บรวบรวมข้อมูล ตามประชากร หรือประเด็นสาระสำคัญ  แต่อย่างไรก็ตามการตั้งชื่อเรื่องไม่จำเป็นต้องเลือกลักษณะใดลักษณะหนึ่ง  แต่นิสิต นักศึกษาควรใช้หลายลักษณะ แล้วแต่ตามความเหมาะสม  เพราะชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์จะบ่งชี้องค์ประกอบหลายอย่าง เช่น  บ่งบอกสาขาที่ศึกษา  บ่งบอกพื้นฐานความรู้ของผู้วิจัย   บ่งบอกกลุ่มประชากร  บ่งบอกลักษณะการเก็บรวบรวมข้อมูล  บ่งบอกสถิติที่จะใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากนี้ชื่อเรื่องที่ตั้งขึ้นต้องมีความน่าสนใจ ความเด่นเฉพาะของเรื่องที่จะศึกษา แต่ต้องไม่ยาว ไม่สั้นเกินไป  ชื่อเรื่องที่ดีต้องสั้น  กะทัดรัดและได้ใจความ  และที่สำคัญหัวข้อวิทยานิพนธ์จะต้องครอบคลุมหรือบ่งชี้สาระสำคัญของเรื่องที่ศึกษาอย่างชัดเจน  

สรุป
การกำหนดหัวข้อสำหรับการวิจัย คือการกำหนดเรื่องที่จะทำ สิ่งที่จะช่วยให้ผู้ทำการวิจัยสามารถผ่านขั้นตอนนี้ของการวิจัยได้ก็คือ
 1. ประสบการณ์ของผู้ที่จะทำวิจัยเองที่ได้พบปัญหาที่ตนเองอยากหาคำตอบ 
2. การทบทวนวรรณกรรมที่อาจชี้ให้เห็นถึงเรื่องต่างๆที่ผู้วิจัยสนใจอยากจะทำ 
3. การปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ   
4. การศึกษาความต้องการของแหล่งทุนการวิจัย และ
5. ความต้องการของหน่วยงานที่ผู้ที่ต้องการวิจัยปฏิบัติงานอยู่ 2หัวข้อวิจัยที่ครอบคลุมสิ่งที่ต้องการจะทำวิจัย จะสามารถสื่อสิ่งที่ต้องการจะทำได้อย่างชัดเจน และบอกถึงความรู้ ความเข้าใจของผู้ที่จะทำวิจัยในเรื่องนั้นด้วย

อ้างอิง
                http://www.watpon.com/Elearning/res19.htm  สืบค้นเมือวันที่ 25 พฤศจิกายน 2555.
http://www.elearning.ns.mahidol.ac.th/km/index.php/research-knowledge-section/80-research-general-knowledge-category/217-2011-03-07-02-39-19.html สืบค้นเมือวันที่ 25 พฤศจิกายน 2555.นาย ทองสง่า ผ่องแผ้ว
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/116502 สืบค้นเมือวันที่ 25 พฤศจิกายน 2555.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น